อยากขี่ม้าเตรียมตัวอย่างไร?

อยากขี่ม้าเตรียมตัวอย่างไร?

ก่อนที่จะเริ่มไปฝึกหัดขี่ม้านั้นเคล็ดลับความสำเร็จที่จะต้องถามตัว เองเสียก่อนว่า ?เราพร้อมหรือยัง? รีบถามตัวเองเสียก่อนจะตัดสินใจ มิฉะนั้นแล้วการขี่ม้าอาจจะไม่เป็นไปตามจินตนาการที่เราได้วาด ฝันเอาไว้ รวมถึง ถามตัวเองว่าคุณมีในสิ่งเหล่านี้ครบแล้วหรือยัง

1. เวลา
การฝึกหัดทำอะไรก็ตาม เมื่อหัดใหม่ ๆ ต้องมีเวลาให้อย่างต่อเนื่อง และสม่ำเสมอ เช่นเดียวกับการขี่ม้า คุณต้องมีเวลาอย่างน้อย สัปดาห์ละ 3 ครั้ง หรือยิ่งมีมากเท่าไรได้ยิ่งดี เพราะความต่อเนื่อง จะทำให้คุณขี่ม้าเป็นเร็วขึ้น แต่ถ้าคุณขี่ ๆ หยุด ๆ ยกตัวอย่างเช่น ขี่สัปดาห์ละครั้งหรือสัปดาห์ละ 3 ครั้ง หายไปอีก 2 สัปดาห์ กลับมาขี่อีก 5 ครั้ง อย่างนี้ชาติหน้าก็ขี่ไม่เป็น แต่การขี่ม้านั้น ถ้าขี่เป็นแล้ว เข้าใจหลักของการบังคับแล้ว จะชี่เป็นเลย นั่นหมาย ความว่าไม่ได้ขี่เป็นปีๆแล้วกลับมาขี่ใหม่ก็ขี่ได้ เช่นเดียวกับการขับรถ

ปัญหามันอยู่ที่ว่า ต้องขี่ให้เป็นเสียก่อน เมื่อขี่เป็นแล้วจะขี่ม้าเพื่อเป็น การออกกำลังกายก็ไม่จำเป็นต้อง มาขี่บ่อย แต่ถ้าอยากจะเป็น นัก กีฬาขี่ม้าแล้ว ยังไงๆก็ต้องขี่ม้าทุกวัน

2. การสนับสนุน
การสนับสนุนที่ดี ส่งผลเป็นอย่างมากสำหรับโอกาสในการขี่ม้าที่ก้าวหน้าและได้ผล อาทิ การสนับสนุนจากผู้ปกครองเริ่มตั้งแต่การมารับ-ส่ง ตลอดจนการจัดหาเครื่องแต่งกาย, อุปกรณ์ สำหรับม้า หรือจนกระทั่งถึงการซื้อม้า (ในกรณีที่อยากมีม้าเป็นของตัวเอง) รวมถึงการสนับสนุนจากสถาบันการศึกษา เพราะ เมื่อเป็นนักกีฬาแล้ว บางครั้ง ตารางการแข่งขันไม่ตรงกับวันหยุดก็อาจจะมีผลกระทบได้ ตลอดจนความเข้าอกเข้าใจของคนรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนหรือคนรัก ต้องเข้าใจว่าการขี่ม้านั้นต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2 – 3 ชั่วโมง (ก่อนขี่ ระหว่างขี่ และหลังขี่) อาจจะทำให้กระทบกับกิจกรรมอื่น ๆ ได้

3. ความกล้า
การขี่ม้าไม่ใช่เป็นสิ่งที่น่ากลัว แต่จะต้องอาศัยความกล้า เพราะเมื่อเราขึ้นไปอยู่บนหลังม้าแล้ว สิ่งที่จะทำให้เกิดความปลอดภัยได้นั้นคือ เราจะต้องทำให้ม้าเกิดความมั่นใจตัวเราว่าเราสามารถบังคับเขาได้ (เราเป็นนายม้า ไม่ใช่ให้มันเป็นตัวพาเราไป) สำหรับการขี่ม้า ผู้ขี่เป็นคนบังคับให้ม้าเดิน วิ่ง หยุด ตามที่ต้องการ เราจะเคยได้ยินเสมอสำหรับสุภาษิตไทยที่ว่า ?กุมบังเหียน? นั้นหมายถึงผู้ขี่ม้านั้นสามารถบังคับม้าไปในทิศทางใดก็ได้ตามใจปราถนา ซึ่งเราต้องกล้าที่จะออกคำสั่งให้ม้าทำตามเรา, ต้องสามารถสื่อสารกันให้เข้าใจ ทั้งๆที่เราไม่สามารถพูดกับเขารู้เรื่อง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่ได้ทำง่ายๆ การขี่ม้าจึงสนุก ตื่นเต้น ท้าทาย แต่ถ้าคุณสำรวจตัวเองแล้วว่าเป็นคนขี้กลัว ตกใจง่าย หล่ะก็ กีฬาขี่ม้าน่าจะไม่เหมาะกับคุณและเมื่อคุณสามารถจัดการกับ ข้อจำกัดต่าง ๆ เหล่านี้ได้แล้ว ขั้นตอนต่อไปก็คือ เลือกสถานที่จะเรียนขี่ม้า และครูสอนขี่ม้า ปัจจัยตรงนี้มีผลมากเนื่องจากบางครั้งสถานที่ขี่ม้าสะดวก (ใกล้บ้าน) แต่ครูไม่ถูกใจหรือครูถูกใจแต่ไม่สะดวกในการเดินทาง ไม่สามารถไป-มา บ่อย ๆ ได้ โรงเรียนขี่ม้าบางที่มีข้อจำกัดในการรับสมาชิกจำนวนมากๆ บางโรงเรียนอัตราค่าขี่ม้าแพง ซึ่งคนฐานะปานกลางส่วนใหญ่สู้ไม่ไหว และอีกมากมายหลายเหตุผล

โรงเรียนขี่ม้า
การเริ่มต้นเรียนขี่มาจากโรงเรียนที่ดีย่อมเกิดประโยชน์กับตัวนักเรียนเอง เป็นอย่างมาก การเรียนขี่ม้าจากโรงเรียนที่มีค่าเล่าเรียนแพงหรือถูก ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นโรงเรียนที่ดีหรือไม่ดี เพราะโรงเรียนขี่ม้าที่ดีนั้น ย่อมต้องมีสภาพแวดล้อมที่ดี ปลอดภัย และมีครูที่ดีซึ่งได้ผ่านการฝึกฝนมาอย่างดี นอกจากนี้การเตรียมสถานที่เรียนให้เหมาะสมกับสภาพการที่จะเรียนขี่ม้าก็มี ความสำคัญเป็นอย่างมาก อาทิ การเตรียมสนามขี่ม้า การเตรียมการเรื่องทฤษฎีต่าง ๆ การเริ่มต้น จากโรงเรียนที่ไม่ดีเท่ากับว่าจะเสียเวลาในการเริ่มต้นไปโดยเปล่าประโยชน์ ซึ่งการที่คุณเลือกเดินทางมาหาเรานั้น บอกได้เลยว่า คุณตัดสินใจถูกแล้ว ชมรมขี่ม้าทหารม้ารักษาพระองค์ นั้น ถือได้ว่าเป็นศูนย์กลางของกีฬาขี่ม้าในประเทศไทยเลยก็ว่าได้

ครูขี่ม้า
ครูขี่ม้าที่ดีนั้น เป็นสิ่งที่มีความจำเป็นต่อการขี่ม้าเป็นอย่างมาก เพราะการขี่ม้านั้น จัดว่าเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ ผู้ที่ขี่ม้าเก่งไม่จำเป็นต้องเป็นครูฝึกม้าที่ดีเสมอไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความสามารถในการถ่ายทอดของแต่ละบุคคล ครูขี่ม้าที่ดีต้องสร้างความมั่นใจให้กับนักเรียนได้และต้องสามารถถ่ายทอด ให้นักเรียนได้เข้าใจถึงวิธีบังคับม้าที่ถูกต้อง และต้องคอยแก้ไขปัญหาต่างๆอันเกิดจากการขี่ม้าให้แก่นักเรียนได้ทุกเวลา ครูขี่ม้าที่ดีต้องมีความละเอียดรอบคอบอย่างสูง มิฉะนั้นแล้ว อาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุแก่นักเรียนและม้าได้โดยไม่ได้ตั้งใจ ก็เป็นได้

อุปกรณ์ในการขี่ม้า
อุปกรณ์ในการขี่ม้าเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมาก เพราะอุปกรณ์ต่าง ๆ ได้ออกแบบและพัฒนาเพื่อนักขี่ม้าโดยเฉพาะ มุ่งเน้นในเรื่องการป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้น และยังช่วยให้สามารถบังคับม้า หรือสื่อสารความเข้าใจระหว่างผู้ขี่ม้ากับม้าได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งแน่นอนที่สุด คุณกับม้าของคุณจะเข้าขากันได้ง่ายขึ้น อีกทั้งยังสามารถลดอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับม้าของคุณ ซึ่งอาจแยกได้เป็น อุปกรณ์คน และอุปกรณ์ม้า

อุปกรณ์คน

1. หมวกกันน๊อค ซึ่งที่นิยม มีใช้กันอยู่ 2 ชนิด คือ
– HARD HAT ทำด้วยวัสดุไฟเบอร์ มีความหมายแข็งแกร่ง ทนทาน สามารถทนแรงกระแทกจากภายนอกได้ ภายในบุนวมเพื่อให้กระชับศรีษะ และมีกระบังหมวกช่วยป้องกันอันตรายกับจมูกและส่วนของใบหน้าขณะตกม้า ส่วนขนาดควรเลือกขนาดที่พอดีกับศีรษะ ไม่ควรเลือกขนาดใหญ่จนเกินไป ซึ่งจะเกิดปัญหาหมวกหล่นปิดหน้าในขณะที่ขี่และอาจจะหลุดหรือไม่สามารถป้อง กันศรีษะที่บอบบางของเราไว้ได้ และไม่ควรเลือกหมวกที่แน่นจนเกินไปซึ่งจะทำให้ผู้ขี่เองเกิดอาการมึนศรีษะ ได้
– CRASH HELMET เป็นหมวกขี่ม้าอีกแบบหนึ่งที่มีความแข็งแรง และสามารถรองรับความปลอดภัยได้ดีกว่า HARD HAT หมวกชนิดนี้ออกแบบมาเพื่อสามารถรับแรงกระแทกอย่างรุนแรงในขณะตกม้าด้วยความ เร็วสูง มักนิยมใช้ในการขี่ม้าในภูมิประเทศ เป็นต้น

2. กางเกงขี่ม้า มีนิยมด้วยกัน 2 แบบ คือ
– BREECHES คือ กางเกงขี่ม้าที่ปลายขารัดเหนือข้อเท้า มีทั้งแบบมีปีก และไม่มีปีก ส่วนสีนั้นแล้วแต่ความนิยม ส่วนสีที่ใช้ในการแข่งขัน คือ สีขาว หรือสีครีม กางเกงชนิดนี้ใช้ใส่กับรองเท้า BOOT ทรงสูงเท่านั้น
– JODHPURS คือ กางเกงขี่ม้าอีกแบบที่มีลักษณะใกล้เคียงกับ BREECHES เพียงแต่ต่างกันตรงปลายขา กางเกงนี้ใช้กับรองเท้าหุ้มข้อ
ส่วนการติดแผ่นหนังก็แล้วแต่ชนิดอาจติดด้านในขา หรือบริเวณก้นยาวไปยังเข่าด้านในก็ได้ ทั้งนี้เพื่อช่วยให้ผู้ขี่ยึดติดกับอานม้ามากยิ่งขึ้น แต่การรักษาสภาพหนังต้องระวัง เพราะหากผู้ขี่ใช้เตารีดรีดบริเวณหนังจะทำให้หนังแข็งตัวเร็วหมดสภาพ และทำให้ผู้ขี่บาดเจ็บ เนื่องจากการเสียดสีกับร่างกายในขณะที่ขี่ม้า

3. รองเท้าขี่ม้า
มี 2 ชนิด คือ
– BOOT หรือเรียกว่า รองเท้าขี่ม้าทรงสูงครึ่งน่อง สุดแล้วแต่จะยาวครึ่งน่องหรือยาวจนถึงใต้เข่า ทำจากหนังสัตว์หรือจากยาง ซึ่งมีราคาต่างกัน ปลายรองเท้าควรเรียวตามรูปเท้าส่วนพื้นรองเท้านั้นควรเรียบ เพื่อป้องกันอันตรายหากผู้ที่ขี่ตกม้า เท้าจะได้ไม่ติดอยู่ภายในโกลน
– ANKLE BOOT หรือรองเท้าขี่ม้าหุ้มข้อ ส่วนมากจะใช้กับกางเกง JODHPURS

4. GLOVES ถุงมือขี่ม้า
ทำจากหนังหรือผ้า มีลักษณะแตกต่างกันไปตามแบบ แต่จะมีการเสริมความแข็งแรงบริเวณระหว่างนิ้วก้อย นิ้วนาง และนิ้วหัวแม่มือ เพราะเป็นบริเวณที่สายบังเหียนจะผ่านเข้าในมือผู้ขี่ ช่วยลดความเสียดสีที่จะเกิดขึ้น ซึ่งอาจจะทำให้นิ้วมือพองได้

5. เสื้อ
โดยปรกติเสื้อที่ใส่ไม่ควรรุ่มร่าม หรือมีขนาดใหญ่เกินไป เพราะจะทำให้เกะกะต่อการบังคับม้า ควรแต่งกายในชุดสุภาพ เสื้อควรเป็นเสื้อคอปกจะแขนสั้นหรือแขนยาวก็ได้ สำหรับการแข่งขันควรใส่เสื้อ JACKET หรือสูท (ขี่ม้า) สำหรับสูทควรเป็นสีน้ำเงิน หรือดำ สำหรับสีแดงนั้น จะใช้เฉพาะผู้เชี่ยวชาญการขี่ม้าในการกระโดดข้ามเครื่องกีดขวางเท่านั้น

6. WHIP
แส้ เป็นเครื่องบังคับม้ารอง ช่วยในการบังคับม้าในกรณีที่แรงน่องของผู้ขี่ไม่พอ และเอาไว้ลงโทษม้าในกรณีไม่เชื่อฟังผู้ขี่ และในทางจิตวิทยาต่อม้าเมื่อผู้ขี่ถือแส้ ม้ามักจะไม่กล้าเกเร แส้แบ่งออกเป็นแส้สั้น (JUMPING WHIP) และแส้ยาว (DRESSAGE WHIP)

7. SPUR
เดือย เป็นเครื่องมือบังคับรอง ใช้สำหรับเตือนม้าโดยสวมทับรองเท้าขี่ม้ ช่วยเสริมให้บังคับม้าได้ดีขึ้น เมื่อต้องการฝึกหรือใช้ในการแข่งขัน SPUR มีมากมายหลายสิบแบบแตกต่างกันไปตามวัตถุประสงค์ของการใช้งาน (ส่วนใหญ่ใช้เฉพาะผู้ที่ขี่ม้าเป็นแล้วเท่านั้น)

อุปกรณ์ม้า
ในการเรียนขี่ม้า สิ่งที่จำเป็นที่นักเรียนควรทราบ ก็คือ อุปกรณ์ที่ใช้อยู่กับตัวม้าว่ามีอะไรบ้าง มิฉะนั้นเราจะเสมือนผู้ที่อาศัยอยู่บนหลังม้า โดยไม่เข้าใจการใช้งานของอุปกรณ์ต่าง ๆ เลยว่ามีผลต่อตัวม้าอย่างไร และจำเป็นอย่างยิ่งที่นักเรียนควรจะจับม้าและผูกเครื่องม้าเป็นสำหรับ อุปกรณ์มีดังนี้

1. ขลุมบังเหียน (BRIDLE) ส่วนใหญ่จะทำมาจากหนังสัตว์ ซึ่งประกอบกันเข้ามีรายละเอียดหลายอย่าง มีชื่อเรียกแต่ละชิ้นแต่ต่างกันออกไป ตำแหน่งที่ประกอบกันเข้าไว้ ซึ่งจะยึดอยู่บนศีรษะม้า
2. เหล็กปากม้า (BIT) แบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ
– เหล็กปากอ่อน SNAFFLE BIT จะเป็นเหล็กปากม้าที่ใช้เป็นส่วนใหญ่ตามปกติทั่วไป ในการบังคับม้าในทุกระดับฝีมือในการขี่ม้า
– เหล็กปากแข็ง CURB BIT จะใช้ประกอบกับเหล็กปากอ่อน รวมเป็นบังเหียนสี่สาย ที่ใช้ในการบังคับม้าชั้นสูงและในพิธี หรือพระราชพิธีของกองทหารม้าในการสวนสนาม
3. ผ้าปูหลังม้า (NUMNAH OR SADDLE CLOTH)
ใช้ปูใต้อานม้า เพื่อป้องกันส่วนของตะโหงกม้า ไม้ให้เสียดสีกับอานม้าโดยตรงซึ่งจะทำให้หลังแตก นอกจากนี้ยังช่วยในการซับเหงื่อม้าในขณะผูกอานมิฉะนั้นจะทำให้อานม้าลื่น หรือหลุดจากหลังม้าหรือขยับที่ได้ ผ้าปูหลังมีแบบต่างๆ มากมาย วัสดุที่ใช้ทำผ้าปูหลังอาจทำจาก ผ้าฝ้าย ลินิน ฟองน้ำ หรือหนังแกะก็ได้
4. อานม้า (SADDLE) มีแบบที่แตกต่างกัน แล้วแต่ชนิดการใช้งาน แต่ส่วนประกอบหลัก ๆของอาน จะประกอบไปด้วย คือ ตัวอาน โกลน, สายโกลน

ในส่วนของอานม้ามีให้เลือกมากมายหลายชนิด แบ่งหลัก ๆ ที่ใช้งาน 3 ชนิด คือ
1. All PURPOSE สำหรับใช้งานทั่วไป
2. JUMPING สำหรับกระโดดข้ามเครื่องกีดขวาง
3. DRESSAGE สำหรับศิลปะการบังคับม้า
พูดถึงอานม้า มีหลายคุณภาพเริ่มจากหนังสัตว์ที่ใช้มาทำอาน นุ่มมาก นุ่มน้อย หนังแท้ หนังเทียม โครงอานข้างในทำด้วยไม้ หรือทำด้วยพลาสติกหล่อสำเร็จรูป วิธีการตัดเย็บหนังขนาดของอาน ความกว้างความลึกของอานตลอดจนกระทั่งผู้ผลิตที่มีชื่อเสียงหรือไม่ ทำให้ราคาของอานแตกต่างกันออกไป เมื่อจะซื้อควรจะสอบถามจากครูผู้สอนหรือผู้มีความรู้เสียก่อน

5. สายรัดทึบ
เป็นส่วนที่ใช้ยึดอานม้าให้ติดอยู่กับตัวม้า สายรัดทึบนี้อาจจะทำมาจากไนล่อน ด้ายถักหนัง หรือวัสดุอื่น ที่ไม่เป็นอันตรายต่อตัวม้า สิ่งสำคัญที่ควรคำนึงถึงคือ สายรัดทึบจะต้องไม่คม จนกระทั่ง บาดตัวม้าเพราะอาจจะทำให้เกิดบาดแผล ที่เกิดจากการเสียดสีได้
6. สนับแข้งม้า (BOOT)
สำหรับป้องกันการเสียดสีของขาม้าเวลาเดิน วิ่ง ไม่ให้เกิดบาดแผล ซึ่งมีมากมายหลายแบบให้เลือกตามวัตถุประสงค์ของการใช้งาน ตลอดไปจนถึงผ้าพันแข้งม้า ซึ่งนอกจากจะช่วยลดการเสียดสีแล้ว ยังช่วยกระชับเอ็นขาม้าไม่ให้ยึดอีกด้วย แต่จะเสียเวลามากกว่าในการรัดผ้าพันแข้ง เมื่อเทียบกับการใส่สนับแข้ง

ทั้งหมดนี้เป็นอุปกรณ์หลัก ๆ ที่ผู้สนใจขี่ม้าควรจะทราบ เพื่อเตรียมอุปกรณ์ของตัวเองและม้าให้พร้อมสำหรับการฝึกหัดขี่ม้า ปัจจุบันอุปกรณ์ เหล่านี้มีจำหน่ายในประเทศแล้วไม่จำเป็นต้องเดินทางไปซื้อมาจากต่างประเทศ เหมือนสมัยก่อน ส่วนราคานั้นขึ้นอยู่กับคุณภาพของสินค้า นอกจากนี้ยังมีอุปกรณ์เสริมพิเศษอีกมากมายที่ไม่ได้กล่าวถึง แถมในส่วนของท้ายเรื่อง ในเรื่อง ?ท่านั่งม้าของผู้ขี่? ท่านั่งม้าที่ถูกต้องนั้นจะต้องนั่งหลังตรง โดยยืดตัวตรงให้รู้สึกว่าตัวยาวที่สุดและเหยียดขาลงไปให้รู้สึกว่าขายาวที่ สุดเช่นเดียวกัน ต้องกดส้นเท้าลง โดยสวมโกลนแค่ปลายนิ้วก้อย ไม่สวมโกลนลึกเพราะจะไม่สามารถกดส้นเท้าลงไปได้ บิดปลายเท้าเข้าหาลำตัวม้า แนวแขนท่อนบนเป็นแนวเดียวกับลำตัว แขนท่อนล่างอยู่แนวเดียวกับสายบังเหียน หัวไหล่ทั้งสองข้างแบะออกจนรู้สึกว่าตึงตรงแผ่นหลังซึ่งจะทำให้สามารถยืดอก ได้เต็มที่แต่ไม่ต้องเกร็งลำตัวท่อนบน นั่งไปบนอานม้าให้เต็มก้นเหมือนนั่งอยู่บนเก้าอี้ ให้น้ำหนักตัวอยู่ที่ก้น ไม่โน้มตัวไปข้างหน้าเพราะจะทำให้น้ำหนักตัวไป กดที่ขาหน้าม้า ซึ่งม้าจะไม่สามารถวิ่งเต็มก้าวได้ ลองนึกภาพถึงการเล่นขี่ม้าส่งเมือง ถ้าคนขี่โน้มตัวมาข้างหน้ามาก คนที่เป็นม้าอยู่ข้างล่างจะวิ่งไปข้างหน้าลำบาก ม้าก็มีความรู้สึกเช่นเดียวกัน แนวก้น, ส้นเท้า, หัวไหล่, ใบหู ของผู้ขี่จะต้องเป็นแนวเดียวกันเสมอ แค่นี้ก็จะทำให้คุณมีถ้านั่งม้าที่ถูกต้อง สง่า สวยงาม และสามารถบังคับม้าได้ง่ายขึ้นแล้ว
สำหรับคำแนะนำขั้นต้นสำหรับการขี่ม้าก็มีเพียงแค่นี้ หวังว่าคุณคงเป็นอีกคนหนึ่งที่รักกีฬาขี่ม้า มีความรักและเอ็นดูสัตว์ที่น่ารักและแสนฉลาด ซึ่งถ้าคุณทำได้ กีฬาขี่ม้าจะสามารถเปลี่ยนบุคลิกและลักษณะนิสัยของคุณ โดยที่คุณไม่รู้ตัว

 

Like and Share!