เรียนรู้สัจธรรมชีวิตกับ “หัวโขน”

ชีวิตคนไทยสมัยก่อนไม่เพียงแต่รู้จักหัวโขนในเชิงศิลปะเท่านั้น แต่ยังได้ซึมซับเนื้อหาสาระเรื่องราวที่ผู้แสดงนำมา เล่นตามบทบาทในท้องเรื่อง ซึ่งเป็นเสมือนภาพสะท้อนของสังคมไทยเฉพาะด้านการปกครองที่ตัวแสดงต้องเล่น เป็นตัวบุคคล ดำรงตำแหน่งฐานะต่างๆที่มีความสำคัญลดหลั่นกันไป โดยมีหัวโขนเป็นสิ่งกำหนดบ่งบอกให้รู้ และหากถอดหัวโขนออก ตัวแสดงทุกตัวก็จะมีลักษณะเหมือนมนุษย์ธรรมดาใกล้เคียงกันทันที คนไทยแต่ก่อนจึงนำ “หัวโขน” มาเปรียบเทียบใช้เป็นเครื่องมือเตือนสติผู้คนที่อยู่ในตำแหน่งหน้าที่ซึ่งมีอำนาจเหลือล้นทั้งหลายว่าเป็นเพียงชั่วครั้งชั่วคราว ไม่ยั่งยืนถาวร เป็นเสมือน \”หัวโขน\” ที่สวมอยู่เท่านั้น เมื่อพ้นตำแหน่ง คือถอดหัวโขนเสียเมื่อใด ก็จะไม่มีสิ่งสมมุติใดหลงเหลืออยู่เลย นอกจากความเป็นสามัญอันเป็นสิ่งปกติธรรมดาของสรรพสิ่งโดยทั่วไป

“อันหัวโขน เขามีไว้ ใส่ครอบหัว
มิใช่ตัว เราจริงจัง ดังที่เห็น
เขามีบท กำหนดแจ้ง แสดงเป็น
เมื่อเลิกเล่น อย่าหลงผิด คิดว่าเรา
ทั้งหน้าพระ ยักษ์ลิง สิ่งสมมติ
ทั้งเดินหยุด รำเต้น เล่นตามเขา
หมดเวลา ลาโรง จงถอดเอา
หน้าโขนเก่า เก็บไว้ ใช้หน้าจริง
ในเวที ชีวิต มีมิตรไว้
มีน้ำใจ ไมตรี ดีกว่าหยิ่ง
เพื่อนสนิท มิตรสหาย ไว้พึ่งพิง
พระยักษ์ลิง ควรคิดย้อน สอนตัวเรา..”

Like and Share!